Sunday, September 16, 2018

หมอค้านอุ้มใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร


"ศ.นพ.ธีระวัฒน์"ซัดมติคกก.วัตถุอันตราย อุ้มใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร ไม่สนผลกระทบต่อสุขภาพ ขัดกฎหมายมาตรา 157

Image result for สารเคมี
เมื่อวันที่ 12 ส.ค.  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 ให้วัตถุอันตราย 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สามารถใช้ต่อไปได้ ถือเป็นการละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือการละเว้นหน้าที่ที่ควรทำ เพราะที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมข้อมูลวิชาการผลกระทบเกี่ยวกับสารเคมีเหล่านี้ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ โดยข้อมูลที่ชัดเจน คือ จ.หนองบัวลำภู มีคณะผู้วิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ลงไปศึกษาติดตาม ที่รพ.หนองบัวลำพูมีสถิติโรคเนื้อเน่าตั้งแต่ปี 2557 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณปีละ 120 ราย ล่าสุด 2560 มีผู้ป่วย 102 ราย เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับสารเคมีทางการเกษตร และหลายรายที่ไม่เสียชีวิตแต่ต้องตัดแขนตัดขาก็มี ในต่างประเทศสนใจเรื่องนี้มาก ล่าสุด คณะลูกขุนของศาลในนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา สั่งให้บริษัท มอนซานโต ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรจ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์ ให้กับอดีตผู้ดูแลสนามหญ้าของโรงเรียนที่กำลังจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ที่เกิดจากยากำจัดวัชพืชของบริษัทดังกล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับภาคประชาชน องค์กรต่างๆ รวมทั้งกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป เพราะถือมติดังกล่าวขัดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ชัดเจน อย่างไรก็ตาม จากที่มีการต่อต้านขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดคล้ายๆ ทบทวนเรื่องนี้ ชื่อว่าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งตนเป็นหนึ่งในกรรมการ จะประชุมในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ต้องดูว่าผลจะออกมาอย่างไร หากสุดท้ายถูกเพิกเฉยอีก ทางนักวิชาการ ภาคประชาชนจะหารือกับญาติผู้เสียหายที่เสียชีวิต และผู้เสียหายที่ถูกตัดแขนขา ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบหมด

No comments:

Post a Comment