นักวิชาการมธ. จี้รัฐคุมเข้มใช้สารเคมีวัตถุอันตราย 3 ชนิด หวั่นส่งผลกระทบสุขภาพรุนแรงในระยะยาว เจอเกษตรกรผสมสูตรมั่วจนมีปริมาณสารพิษตกค้างในนาข้าว อึ้งพบในเลือดกว่า60%
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช และการจัดการเกษตรอินทรีย์ เปิดเผยว่ามีความกังวลเรื่องการรับรู้ของเกษตรกรในเรื่องการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช 3 ชนิด ภายหลังที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต โดยสารปราบวัชพืช 3 ชนิดนี้เกษตรกรไทยนิยมไทยกันมากเพราะราคาถูกเห็นผลเร็ว แต่เกิดผลเสียในระยะยาว ส่งผลขั้นรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม หลายประเทศทั่วโลกจำนวนมากเลิกใช้และ มีมาตรการห้ามใช้ถาวรมากว่า 10 ปี ให้ใช้สารชนิดอื่นเข้ามาทดแทน
“จากที่สำรวจพบเกษตรกรมักใช้สารเคมีในปริมาณเกินกว่าที่ฉลากกำหนด และมีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดของเกษตรกรจังหวัดยโสธร 81 ราย จากทั้งหมด 82 ราย ดังนั้นถึงเวลาที่หน่วยงานดูแลเรื่องนี้ ต้องมีมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน กำหนดให้ผู้ใช้ต้องมีใบอนุญาต เพื่อจำกัดกลุ่มใช้ ตามขนาดพื้นที่อย่างเคร่งครัด จะต้องมีคณะติดตามผล เพื่อเข้าตรวจสอบ ชี้วัดถึงความอันตรายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบแบบรัดกุม ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสารอันตราย พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต เป็นจำนวนกว่า 44,501 ตัน 3,700 ตัน และ 59,872 ตัน ตามลำดับ ”ผศ.ดร.ดุสิต กล่าว
ผศ.ดร.บัณฑิต อนุรักษ์ อ.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในภาคการเกษตร กล่าวว่า มีกรณีศึกษาจากเกษตรกรใน อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ได้ใช้สารเคมีหลายชนิด มากกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานที่ฉลากกำหนด เพราะเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยที่ซื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีชนิดอื่นในการฉีดพ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่น ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างในเลือดกว่า 60% ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ปริมาณสารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสในนาข้าวและผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร ทั้งนี้เป็นหน้าที่หน่วยงานเร่งแก้ไขอย่างครบวงจร จะป้องกัน ไม่ให้ถูกหลอกลวงจากการใช้ปุ๋ยปลอม และประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
No comments:
Post a Comment